ข้อบังคับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ข้อบังคับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนา
พ.ศ. ๒๕๔๘




ด้วยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้กำหนดให้มีเครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนาขึ้น เพื่อออกให้กับผู้ประกอบธุรกิจสำหรับใช้แสดง ณ สถานประกอบธุรกิจ เพื่อแสดงว่าธุรกิจดังกล่าว ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาด้านการบริหารจัดการ และการตลาดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการใช้เครื่องหมายดังกล่าว อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
           ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่าข้อบังคับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนา พ.ศ. ๒๕๔๘
           ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นไป
           ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
เครื่องหมายรับรองหมายถึง เครื่องหมายรับรองธุรกิจพัฒนาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อแสดงว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริม และพัฒนาด้านการบริหารจัดการและการตลาดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีรูปแบบตามที่แนบไว้ท้ายข้อบังคับนี้
           “กรมหมายถึง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
           “อธิบดีหมายถึง อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
           “หนังสืออนุญาตหมายถึง หนังสืออนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง
           “ผู้ประกอบธุรกิจหมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือบริการประเภทที่กรมจัดให้มีการส่งเสริมและพัฒนา
           ข้อ ๔ ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอใช้เครื่องหมายรับรอง จะต้องมีคุณสมบัติ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
           (๑) เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
           (๒) เป็นธุรกิจการค้าหรือบริการ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ท้ายข้อบังคับนี้
           (๓) ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรพัฒนาธุรกิจของแต่ละประเภทธุรกิจที่กรมกำหนด
           (๔) ธุรกิจที่ประกอบมีการจัดทำบัญชี
           ข้อ ๕ ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอใช้เครื่องหมายรับรอง ให้ยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารประกอบ ตามแบบที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ ณ สถานที่ ดังต่อไปนี้
           (๑) ธุรกิจที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอ ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
           (๒) ธุรกิจที่มีสถานที่ตั้งในจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอ ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ในจังหวัดนั้น ๆ
           ข้อ ๖ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง กรมจะมอบแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรอง และออกหนังสืออนุญาต ตามแบบที่แนบท้ายข้อบังคับนี้ให้ไว้เป็นหลักฐาน
การอนุญาตตามวรรคแรก กรมอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติเพิ่มเติมก็ได้
           ข้อ ๗ หนังสืออนุญาตมีกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ออกหนังสืออนุญาต
การต่ออายุหนังสืออนุญาต ให้ผู้ประสงค์จะขอต่อหนังสืออนุญาตยื่นคำขอ ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน ๓๐ วัน ก่อนวันที่หนังสืออนุญาตสิ้นอายุ และให้นำความในข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ มาใช้บังคับกับการต่ออายุหนังสืออนุญาตโดยอนุโลม
           ข้อ ๘ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองอาจได้รับสิทธิประโยชน์อย่างอื่น ดังต่อไปนี้
(๑) มีสิทธิเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรม
(๒) ได้รับการสนับสนุนในด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการตลาด
(๓) ได้รับการสนับสนุนในการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาธุรกิจจากสถาบันการเงินที่ได้ทำความตกลงกับกรมไว้
(๔) สิทธิในการเข้าร่วมโครงการ Fast Track กับหน่วยงานของกรมและหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่ได้ทำความตกลงกับกรมไว้
(๕) ได้รับการสนับสนุนในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์
(๖) ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามที่กรมกำหนด
          
             ข้อ ๙ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
           (๑) ติดตั้งแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรองที่ได้รับไว้บริเวณที่เหมาะสมด้านหน้าของสถานที่ประกอบธุรกิจ ตามที่ได้รับอนุญาตและห้ามมิให้นำเครื่องหมายรับรองไปใช้เพื่อการอื่น
           (๒) แสดงหนังสืออนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ชัดเจน ณ สถานที่ประกอบธุรกิจ ตามที่ได้รับอนุญาต
           (๓) ดำรงไว้ซึ่งคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองตลอดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต
           (๔) ให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ
           ข้อ ๑๐ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของกรม หรือผู้ที่กรมมอบหมายเข้าตรวจสอบกำกับดูแลการใช้เครื่องหมายรับรองตามข้อบังคับนี้ และจะต้องอำนวยความสะดวกตามสมควรในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
           ข้อ ๑๑ กรมมีอำนาจสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองในกรณีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ให้ใช้เครื่องหมายรับรองประกอบธุรกิจโดยมีพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ หรือไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้เครื่องหมายรับรองในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเข้าใจผิดในเครื่องหมายรับรอง
ในกรณีที่กรมสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรอง ผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองสามารถชี้แจง โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่ออธิบดีได้ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่กรมสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรอง ถ้าอธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองไม่ได้กระทำความผิดตามวรรคแรก กรมจะอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้นต่อไป แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมาย รับรองได้กระทำความผิดจริง หรือผู้ถูกสั่งพักใช้เครื่องหมายรับรองไม่ชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมจะเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้น
           ข้อ ๑๒ กรมอาจเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองได้ หากผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขข้อใดที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ และข้อ ๙ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาต ให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ปฏิบัติเพิ่มเติมตามข้อ ๖ หรือไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ หรือไม่อำนวยความสะดวกในการตรวจสอบตามข้อ ๑๐
           ข้อ ๑๓ ในกรณีที่กรมสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองต้องหยุดใช้เครื่องหมายรับรองนั้นทันที นับแต่วันที่กรมสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตและคืนหนังสืออนุญาตพร้อมแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรอง ให้กรมภายใน ๗ วัน นับแต่วันดังกล่าว
ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองผู้ใดฝ่าฝืนใช้เครื่องหมายรับรอง ในระหว่างที่ถูกสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหาย ให้กรมในอัตราวันละห้าพันบาท จนกว่าจะได้เลิกใช้
           ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบธุรกิจที่เคยถูกสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ จะยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอน
           ข้อ ๑๕ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเป็นร้านต้นแบบของธุรกิจ แต่ละประเภทและร้านซื้อสะดวกตามโครงการปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๗ ของกรมทุกรายจะได้รับแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรอง พร้อมกับหนังสืออนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย รับรองตามข้อบังคับนี้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตตามข้อ ๕
           ข้อ ๑๖ ให้อธิบดีรักษาการตามข้อบังคับนี้

ประเภทธุรกิจบริการร้านเสริมสวย                     

                       (๑) เป็นร้านเสริมสวยที่กระทำการถูกต้องตามกฎระเบียบในการจัดตั้งธุรกิจเสริมสวย เช่น ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากสำนักงานเขตหรือเทศบาลที่ร้านนั้นตั้งอยู่ หรือได้จดทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำประกันสังคมให้กับพนักงานในร้าน และเสียภาษีอย่างถูกต้อง
                      (๒) มีการตกแต่งหน้าร้านและในร้านอย่างทันสมัย รวมทั้งมีการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยในร้านอย่างชัดเจน คือ พื้นที่ในการตกแต่งทรงผม (ตัด ไดร์) พื้นที่ในการสระผม พื้นที่เก็บอุปกรณ์ พื้นที่สำหรับพนักงานเก็บเงิน และมีห้องน้ำที่สะอาดเพื่อให้บริการ
                      (๓) มีการรักษาความสะอาดของพื้นที่หน้าร้านและในร้าน รวมทั้งอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้กับลูกค้า
                      (๔) มีเครื่องแบบสำหรับพนักงาน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น